21/03/2018

ABOUT

คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เกิดขึ้นมาพร้อมกับการก่อตั้งมหาวิทยาลัย เมื่อปีพ.ศ.2439 มีชื่อว่า “โรงเรียนราชวิทยาลัย” ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “โรงเรียนบ้านสมเด็จเจ้าพระยา” ซึ่งขณะนั้นยังไม่เปิดสอนด้านการฝึกหัดครู ต่อมาเมื่อปีพ.ศ.2446 กระทรวงธรรมการได้จัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูในจวนของสมเด็จเจ้าพระยา เรียกชื่อว่า “โรงเรียนฝึกหัดครูฝั่งตะวันตก” ผลิตครู สอนชั้นมูลแล้วส่งไปตามหัวเมืองต่างๆ ต่อมาได้จัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูในต่างจังหวัดมากขึ้น โดยมีนโยบายที่จะผลิตครูให้เพียงพอกับความต้องการ ภายหลังจากที่กระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน) ได้มีการจัดตั้งโรงเรียนมัธยมบ้านสมเด็จเจ้าพระยาขึ้น เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2458 และรับนักเรียนประจำ โดยมีโรงเรียนใกล้เคียงถูกรวมเป็นสาขาด้วย ได้แก่ โรงเรียนมัธยมวัดอนงค์ โรงเรียนสุขุมาลัย (ตั้งอยู่บริเวณวัดพิชัยญาติ) และโรงเรียนประถมวัดอนงค์ ตัวโรงเรียนมัธยมบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ตั้งอยู่ที่บ้านของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ต่อมาเมื่อมีนักเรียนเพิ่มมากขึ้น จึงได้มีการขอแลกเปลี่ยนพื้นที่กับโรงเรียนศึกษานารี และได้ย้ายมายังพื้นที่แห่งใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ของมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาในปัจจุบัน ต่อมาในปี พ.ศ.2484 กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบาย ที่จะผลิตครูมากขึ้น เพื่อให้เพียงพอกับจำนวนประชากรที่มากขึ้น จึงให้โรงเรียนมัธยมบ้านสมเด็จเจ้าพระยาเปิดแผนกครูเพิ่มขึ้น และให้ใช้ชื่อว่า “โรงเรียนฝึกหัดครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา” โดยรับนักเรียนทุนของทุกจังหวัด มาเรียน
ในปี พ.ศ.2484 ได้เปิดหลักสูตรประโยคครูประถมขึ้น ในปี พ.ศ. 2496 เปิดหลักสูตรครูมัธยมแผนกงานสันทัดขึ้น
ในปี พ.ศ.2497 เปิดหลักสูตรฝึกหัดครูประถม 3 ปี (ป.ป.)
ในปี พ.ศ.2499 ได้ยุบหลักสูตรดังกล่าว และเปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตร วิชาการศึกษา (ป.กศ.) และหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง (ป.กศ.สูง) ขึ้นมาแทนในปี พ.ศ. 2501 โรงเรียนฝึกหัดครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยาได้ยกฐานะขึ้นเป็น“วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา” ต่อมาได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ.2518 โดยให้วิทยาลัยครูเปิดสอนระดับปริญญาตรีสาขาวิชาการศึกษา (ค.บ.) มีคณะเกิดขึ้น 3 คณะวิชา คือ คณะวิชาครุศาสตร์ คณะวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ตำแหน่งผู้บริหารวิทยาลัยครูเรียกว่า“อธิการ”และตำแหน่งผู้บริหารคณะวิชาเรียกว่า“หัวหน้าคณะ” คณะวิชาครุศาสตร์ วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยามี 5 ภาควิชา คือ ภาควิชาพื้นฐานการศึกษา ภาควิชาหลักสูตรและการสอน ภาควิชาจิตวิทยาและการแนะแนว ภาควิชาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษา ภาควิชาวัดผลและวิจัยการศึกษา
ในปี พ.ศ. 2527 ได้มีพระราชบัญญัติวิทยาลัยครูฉบับที่ 2 วิทยาลัยครูจึงสามารถเปิดวิชาการอื่นได้อีก 2 สาขา คือ สาขาวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) สาขาศิลปศาสตรบัณฑิต (ศศ.บ.) และมีคณะใหม่เพิ่มขึ้นอีก 1 คณะ คือ คณะวิทยาการจัดการ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 โปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อ “สถาบันราชภัฏ” เมื่อปี พ.ศ. 2535 แทนชื่อ “วิทยาลัยครู” และประกาศใช้พระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ เมื่อปี พ.ศ.2538 จึงเปลี่ยนชื่อ“คณะวิชาครุศาสตร์”เป็น “คณะครุศาสตร์”ตำแหน่งผู้บริหารคณะเปลี่ยนจาก “หัวหน้าคณะ” เป็น “คณบดี” ตำแหน่งผู้บริหารสถาบันเปลี่ยนจาก “อธิการ” เป็น “อธิการบดี” ปัจจุบันคณะครุศาสตร์จึงมีบทบาทโดยตรงในการผลิตครู โดยใช้หลักสูตรจากสำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ ซึ่งเป็นหลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี และ 2 ปีหลังอนุปริญญา และสถาบันราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา มีบทบาทในการผลิตบัณฑิตหลายสาขา แทนที่จะผลิตครูอย่างเดียวเหมือนในอดีต ในปี พ.ศ.2540 คณะกรรมการสภาสถาบันราชภัฏได้มีมติให้เปลี่ยนภาควิชาเป็นโปรแกรมวิชา
คณะครุศาสตร์ ได้เปิดสอนหลักสูตรปริญญาโท สาขาบริหารการศึกษาในปี พ.ศ. 2541 จำนวน 1 ห้องเรียน และในปีการศึกษา 2542 อีก 1 ห้องเรียน ต่อมาได้มีการประกาศพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติพุทธศักราช 2542 ขึ้น กำหนดให้คณะครุศาสตร์มีบทบาทในการพัฒนาครูและส่งเสริมวิทยฐานะครู คณะครุศาสตร์จึงได้เปิดสอนหลักสูตร “ประกาศนียบัตรวิชาชีพครู 24 หน่วยกิต” เพื่อช่วยพัฒนาครูและส่งเสริมวิทยฐานะครูสาหรับครูที่ไม่มีวุฒิขึ้นรับ“ใบประกอบวิชาชีพครู” ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และเปิดสอนหลักสูตรปริญญาโทรุ่นที่ 3 โครงการความร่วมมือระหว่างคณะครุศาสตร์และหน่วยงานผู้ใช้ครู เพื่อเป็นการพัฒนาผู้บริหารการศึกษาให้มีวุฒิปริญญาโท
ในปี พ.ศ.2544 คณะครุศาสตร์ ได้เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพครู 27 หน่วยกิต เพื่อพัฒนาครูและส่งเสริมวิทยฐานะครูที่ไม่ได้รับปริญญาตรีสาขาการศึกษา เพื่อให้ได้รับวุฒิทางครูที่ระดับสูงกว่าปริญญาตรี กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศเรื่อง การแบ่งส่วนราชการในสถาบันราชภัฏ พิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา ฉบับทั่วไปเล่ม 116 ตอนพิเศษ 79 ง.วันที่ 12 ตุลาคม 2542 ให้คณะครุศาสตร์แบ่งส่วนราชการออกเป็น2 หน่วยงาน คือ สำนักงานเลขานุการคณะและโรงเรียนสาธิต จากพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ได้เปิดโอกาสให้มีการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ สำนักงานสภาสถาบันราชภัฏได้จัดทำโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาครู โดยดำเนินการในสถาบันราชภัฏทั้ง 41 แห่ง มีประโยชน์ต่อการบริการทางวิชาการ สู่สังคม จึงเปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพครู และประกาศนียบัตรการบริหารการศึกษาและพัฒนาสืบเนื่องจนถึงปัจจุบัน
วันที่ 10 มิถุนายน 2547 สถาบันราชภัฏทั้ง 41 แห่ง ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ด้วยเป็นพระราชวโรกาส ที่พระบาทสมเด็จ พระปรินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง “มหาวิทยาลัยราชภัฏ” ขึ้นแทนสถาบันราชภัฏ พ.ศ.2548 สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้ดำเนินการเปิดหลักสูตรระดับปริญญาตรี 5 ปี ของคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จำนวน 7 สาขาวิชา เป็นรุ่นแรก ได้แก่ ครุศาสตรบัณฑิตสาขาวิชาภาษาไทย สาขาวิชาภาษาอังกฤษ สาขาวิชาคณิตศาสตร์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาสังคมศึกษา สาขาวิชาศิลปกรรม และสาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย รวมทั้งหลักสูตรปริญญาโท 6 สาขาวิชา ได้แก่ ครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน สาขาวิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา สาขาวิชาการสอนภาษาอังกฤษ สาขาวิชาวิจัยและประเมินผลการศึกษา สาขาวิชาคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งได้เปิดหลักสูตรระดับปริญญาเอก จำนวน 1 สาขา คือ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาการบริหารการศึกษา
พ.ศ.2551 มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้จัดแบ่งโครงสร้างการบริหารใหม่ โดยให้โรงเรียนสาธิตแยกออกเป็นสำนักสาธิต ซึ่งมีโครงสร้างการบริหารเทียบเท่ากับคณะ
พ.ศ.2554 ทุกสาขาวิชาได้ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2552 (Thai Qualification Framework for Higher Education : TQF : HEd.) และจัดทำรายละเอียดของรายวิชา (มคอ.2) โดยการพัฒนาปรับปรุงจากหลักสูตรเดิมที่มีอยู่ให้มีความสอดคล้องเหมาะสมกับยุคสมัย
พ.ศ.2555 คณะครุศาสตร์ มีหลักสูตรทั้งหมด 14 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตร ค.บ. (5 ปี) จำนวน 10 หลักสูตร คือ หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย, สาขาวิชาภาษาอังกฤษ, สาขาวิชาคณิตศาสตร์, สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป, สาขาวิชาสังคมศึกษา, สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ศึกษา, สาขาวิชาดนตรีศึกษา, สาขาวิชานาฏยศิลป์ศึกษา, สาขาวิชาพลศึกษา, สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย และหลักสูตร ค.บ.        (4 ปี) จานวน 4 หลักสูตร คือ หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยา, สาขาวิชาคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษา, สาขาวิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา, สาขาวิชาการประเมินผลและวิจัยทางการศึกษา
พ.ศ.2556 คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้รับประกาศจากคุรุสภาเรื่อง การรับรองปริญญาและประกาศนียบัตรทางการศึกษาเพื่อการประกอบวิชาชีพ เพื่อรับรองมาตรฐานหลักสูตรและมาตรฐานการผลิตปริญญา ครุศาสตรบัณฑิต หลักสูตรปรับปรุง พุทธศักราช 2551 ของมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เฉพาะปีการศึกษา 2554 จำนวน 8 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย สาขาภาษาไทย สาขาวิชาคณิตศาสตร์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาสังคมศึกษา สาขาวิชาภาษาอังกฤษ สาขาวิชาศิลปกรรมศึกษา และสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ศึกษา ทั้งนี้ บัณฑิตที่ผ่านการประเมินมาตรฐานบัณฑิตของสถาบันตามเกณฑ์การรับรองของคุรุสภาเป็นผู้สำเร็จการศึกษาตามปริญญาที่คุรุสภารับรอง ประกาศ ณ วันที่ 30 พฤษภาคม 2557
พ.ศ.2558 คณะครุศาสตร์ ได้พัฒนาหลักสูตรใหม่ ค.บ. (5 ปี) จำนวน 2 หลักสูตร คือ หลักสูตร ครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการประถมศึกษา และสาขาวิชาศิลปศึกษา
ปัจจุบัน(2559) คณะครุศาสตร์ มีหลักสูตรที่เปิดสอนในระดับปริญญาตรีทั้งสิ้นจำนวน 9 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตร ค.บ. (5 ปี) จำนวน 5 หลักสูตร, หลักสูตร ค.บ. (4 ปี) จำนวน 4 หลักสูตร, และหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา จำนวน 3 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรบริหารการศึกษา, หลักสูตรและการสอน, หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู เพื่อรองรับกับความต้องการของสังคมและการพัฒนาประเทศ
ตาราง 1 หลักสูตรและสาขาวิชาที่เปิดสอน